กรมเจ้าท่าเบรก “เรือด่วนข้ามฟาก แสนแสบ” ขึ้นราคา เจรจาตรึงต่อไปเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชน ด้านผู้ประกอบการแบกขาดทุน ผู้โดยสารหาย 65% คาด ก.พ.ถกหามาตรการและค่าโดยสารใหม่ที่เหมาะสม

นายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) ด้านปลอดภัย เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีข่าวว่าเรือข้ามฟากได้เสนอขอปรับขึ้นราคาค่าโดยสาร จาก 3.50 บาท เป็น 5 บาท เนื่องมาจากค่าน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น และจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ที่รัฐบาลได้มีมาตรการลดการระบาดของโรค เช่น การกำหนดระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) การปฏิบัติงานในที่พักอาศัย (Work from home) ทำให้ผู้ใช้บริการเรือโดยสารลดลง ซึ่งพบว่าผู้ใช้บริการเรือโดยสารข้ามฟากเปรียบเทียบจำนวนผู้โดยสารก่อนและระหว่างสถานการณ์โควิด-19 มีจำนวนคนโดยสารลดลงในทุกเส้นทาง เฉลี่ย 65% ส่งผลให้ผู้ประกอบการเดินเรือโดยสารมีรายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในการประกอบการเดินเรือ

ในเรื่องการปรับขึ้นค่าโดยสารนั้น กรมเจ้าท่ายืนยันว่าขณะนี้ผู้ประกอบการเรือโดยสารและเรือข้ามฟากยังคงให้ความร่วมมือในการจัดเก็บอัตราค่าโดยสารตามประกาศกรมเจ้าท่ามา ซึ่งที่ผ่านมากรมเจ้าท่าได้ออกประกาศที่ 68/2563 กำหนดอัตราค่าโดยสารเป็นการเฉพาะและชั่วคราว ตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ในเกณฑ์ค่าน้ำมันดีเซลไม่เกิน 20 บาท/ลิตร เพื่อบริหารสถานการณ์การเดินเรือโดยสารข้ามฟากแม่น้ำเจ้าพระยาให้ยังคงสามารถให้บริการต่อไปได้ และให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม ในการบรรเทาค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชน และรักษาการให้บริการเดินเรือสาธารณะของผู้ประกอบการต่อไป

โดยตามประกาศที่ 68/2563 ได้กำหนดอัตราค่าโดยสาร สำหรับเรือข้ามฟากในเส้นทางต่างๆ ดังนี้

1. เส้นทางนนทบุรี-บางศรีเมือง/ท่าช้าง-วังหลัง/ท่าช้าง-วัดระฆัง/วังหลัง-ท่าพระจันทร์เหนือ/วังหลัง-มหาราช/ราชวงศ์
– ท่าดินแดง จัดเก็บค่าโดยสารในอัตรา 3.50 บาท

2. เส้นทางโอเรียนเต็ล-วัดสุวรรณ ท่าเตียน-วัดอรุณ จัดเก็บค่าโดยสารในอัตรา 4 บาท

3. เส้นทางสี่พระยา-คลองสาน จัดเก็บค่าโดยสารในอัตรา 4.50 บาท

4. เส้นทางพระสมุทรเจดีย์-วิบูลย์ศรี สะพานตากสิน (สาทร) ฝั่งพระนคร-ฝั่งธนบุรี จัดเก็บค่าโดยสารในอัตรา 5.50 บาท

5. เส้นทางปากคลองตลาด-วัดกัลยาฯ-วัดกุฎีจีน จัดเก็บค่าโดยสารในอัตรา 6 บาท

ทั้งนี้ กรมเจ้าท่าคำนึงถึงภาระและภาวการณ์ประกอบการที่ขาดทุนในช่วงสถานการณ์โควิด-19 โดยได้ร่วมกับสมาคมเรือไทยพิจารณาผลกระทบเพื่อกำหนดมาตรการและอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 นี้ เพื่อให้การบริการเดินเรือโดยสารข้ามฟากสามารถดำเนินการอยู่ได้โดยไม่เพิ่มภาระค่าครองชีพแก่ประชาชนเกินสมควร

“ปัจจุบันผู้ประกอบการเดินเรือประสบกับภาวะราคาน้ำมันดีเซลที่เพิ่มสูงขึ้นเกินกว่า 29 บาทต่อลิตร ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2564 ซึ่งกรมเจ้าท่าจะพยายามขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการ ตรึงค่าโดยสารต่อไปให้นานที่สุด”

อ้างอิง
https://m.mgronline.com/business